มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

02 กรกฎาคม 2567
มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
แม้ว่าข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรณ วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้รายงานสถิติในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค. 2567) จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ปิดกิจการจะมี “น้อยกว่า” จำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดกิจการใหม่ กล่าวคือ โรงงานปิดกิจการมีจำนวน 488 โรงงาน แต่โรงงานที่เปิดใหม่มีจำนวน 848 โรงงาน หรือจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าโรงงานปิดคิดเป็นร้อยละ 74 ก็ตาม ทว่าหากพิจารณาข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ ม.ค. 2565-มิ.ย. 2567 ก็จะพบว่า เพียง 2 ปีกว่า ๆ มีโรงงานปิดกิจการไปแล้วถึง 3,418 แห่ง ซึ่งจัดเป็นตัวเลขการปิดกิจการที่สูงมาก

การปิดกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า 3 อันดับแรกเป็นโรงงานในกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (อาทิ PCB), กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ (โครงสร้างเหล็ก) และ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก (อาทิ ชิ้นส่วนพลาสติก) ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดใหม่ 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร (อาทิ อาหารสัตว์สำเร็จรูป), กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (อาทิ ปุ๋ยเคมี) และกลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ (อาทิ PCB)

สำหรับสาเหตุสำคัญที่โรงงานอุตสาหกรรมปิดกิจการลงในปี 2567 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อว่าเป็นผลมาจากคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคากันสูง มีสินค้าจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาตีตลาด การส่งออกของประเทศลดลง และการย้ายโรงงานไปเปิดในประเทศคู่แข่ง ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อว่าเป็นเพราะราคาสินค้าที่ตกต่ำลง ซึ่งเป็นผลมาจากสงครามทางการค้า การถูกสินค้าจีนแย่งตลาดส่งออกสินค้าไทยความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ในที่ระดับ 98.34 หรือหดตัว 1.54% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยยังไม่ฟื้นตัว แถมยังส่งสัญญาณเตือนภัยด้วยว่า อุตสาหกรรมยังชะลอตัวด้วย

โดยมีข้อน่าสังเกตจากภาคเอกชนเข้ามาว่า ทั้งโรงงานที่ปิดกิจการและโรงงานที่เปิดใหม่ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานในอุตสาหกรรมเดิม ๆ ที่ในอดีตเคยสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นแผงวงจร โรงงานเหล็กขั้นกลางและขั้นปลาย โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และโรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรขั้นต้น

จึงควรที่รัฐบาลจะต้องออกชุดนโยบายส่งเสริมภาคการผลิตและดึงดูดการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้ปรับโครงสร้างไปสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ New S-curve อย่างจริงจังและต้องทำทันที ไม่ว่าจะเป็นชิปขั้นสูง ไบโอเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน EV อุตสาหกรรมสีเขียว อาหารอนาคต Data Center & Cloud เพื่อผลักดันให้ประเทศพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้

แหล่งที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.